ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็งโบราณ อายุกว่า 29,000 ปี เก่าแก่ที่สุดในไทย เตรียมเชื่อมโยงเป็นหลักฐานสำคัญระดับโลก คาดเป็นเด็กช่วงอายุ 6-8 ปี ยังไม่ระบุเพศ ตั้งชื่อโครงกระดูกนี้ว่า ปังปอน
วันที่ 24 ก.พ.68 นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อม ด้วยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมแถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง (สมัยไพลสโตซีน) และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด บ้านพุใหญ่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาแดง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
สืบเนื่องจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ดำเนิน “โครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน” ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในอนาคต


โดยการขุดค้นครั้งนี้ เป็นความสำเร็จร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในการสำรวจเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย
หลังจากที่ปี 2563 ได้พบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ จึงเริ่มขุดค้นในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ เนื่องจากพื้นดินมีฝุ่นขี้เถ้าไฟ ทำให้พบโบราณวัตถุประเภทขวาน เปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก สันนิษฐานว่ามีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงขุดลึกอีก 2 เมตร จนพบโครงกระดูกมนุษย์ พิจารณาฟันแล้ว คาดว่าเป็นเด็กช่วงอายุ 6-8 ปี จำนวน 1 โครง ยังไม่ระบุเพศ ตั้งชื่อโครงกระดูกนี้ว่า “ปังปอน”

