จับตัวจีนเทา กลางห้างดังย่านประตูน้ำ หลังพบลอบขายเสื้อผ้า เครื่องประดับแบรนด์หรู และ ขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลตปลอมกว่าสองหมื่นชิ้น
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย นำโดย พ.ต.ท.ศักดิ์สะท้าน เปรื่องชะนะ รอง ผกก.1 บก.ปอศ.ได้ร่วมกันตรวจจับกุมผู้ต้องหา นายหยางจิน (MR.YANG JIN) สัญชาติ จีน อายุ 48 ปี

พร้อมด้วยของกลาง เสื้อผ้า เครื่องประดับ นาฬิกา สร้อยคอ ต่างหูที่ปลอม เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร และขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลตปลอม รวมของกลางกว่า 27,856 ชิ้น ตรวจพบภายในร้านค้าไม่ติดชื่อเลขที่ ของห้างย่านประตูน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และร้านค้าในเครืออีก 2 ร้าน


เพื่อดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร”
สถานที่จับกุม บริเวณร้านค้าไม่ติดชื่อเลขที่ ห้างย่านประตูน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ ด้วยเจ้าพนักงานตำรวจ กก.1 บก.ปอศ. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยได้สืบทราบว่ามีชาวจีนได้ลักลอบจำหน่ายสินค้าปลอม และขนมที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่ปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรภายในร้านค้าในห้างย่านประตูน้ำ จากนั้นได้ทำการสืบสวนเพิ่มเติมจนทราบว่าบัญชีธนาคารผู้รับชำระค่าสินค้าคือ นายหยางจิน (MR.YANGJIN) จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเข้าตรวจค้น

ต่อได้นำหมายค้น จึงได้นำหมายค้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เข้าทำการตรวจค้น ขณะตรวจค้นได้พบนายหยางจิน (MR.YANGJIN) แสดงตัวเป็นเจ้าของสินค้า จึงได้ทำการจับกุม โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าสินค้าเป็นของตนเอง โดยทำร่วมกับเพื่อนชาวจีนอีกหนึ่งคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ทำการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดต่อไป จึงได้แจ้งข้อหาและสิทธิตามกฎหมาย จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ฝากเตือนภัยพี่น้องประชาชน การลักลอบจำหน่ายขนมอัลมอนด์เคลือบช็อกโกแลตปลอม ลอกเลียนสินค้าไทยชื่อดัง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบเสื่อมคุณภาพหรือสารทดแทนราคาถูก เช่น น้ำมันปาล์มเกรดต่ำ สีผสมอาหารต้องห้าม หรือสารกันเสียเกินมาตรฐาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้, พิษสะสมในตับไต และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้
